วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพในผู้ใหญ่วัยกลางคน

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพในผู้ใหญ่วัยกลางคน ได้แก่


1. ความเชื่ออำนาจในตน (internal health locus of control) บุคคลที่รับรู้ว่าตนเองสามารถควบคุมดูแลสุขภาพของตนเองได้ จะมีพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพมากกว่าบุคคลที่รู้สึกว่าตนเองไม่สามารถควบคุมดูแลสุขภาพของตนเองได้ ซึ่งอาจจะคิดว่าสุขภาพเป็นเรื่องของธรรมชาติหรือเรื่องบุญและกรรมที่ตนไม่อาจไปฝ่าฝืนได้ ผู้ที่รับรู้เช่นนี้จะมีพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพเกี่ยวกับการดูแลในเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย หรือการให้กำลังใจแก่กันและกันต่ำกว่าผู้ที่เชื่ออำนาจในตน
2. การยอมรับนับถือตนเอง (Self-esteem) การยอมรับนับถือตนเอง เป็นการแสดงถึงความรู้สึกว่าตนเองมีค่าย่อมจะมีกำลังใจในการปฏิบัติสิ่งต่างๆ ด้วยความภูมิใจในตนเอง จึงมีความตั้งใจและมีพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพดีกว่าคนที่รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า หรือมีการยอมรับนับถือตนเองตํ่า
3. การรับรู้เกี่ยวกับสถานภาพสุขภาพ (health perception) ผู้ใหญ่วัยกลางคนที่รับรู้ว่าสถานภาพของตนอยู่ในเกณฑ์ดีจะมีพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพดีกว่าผู้ที่รับรู้ว่าสถานภาพสุขภาพของตนไม่ดี
การส่งเสริมสุขภาพในวัยผู้ใหญ่ตอนกลาง วัยผู้ใหญ่ตอนกลางหรือวัยกลางคน นับเป็นวัยที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับสุขภาพมากกว่าวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว เพราะเป็นวัยที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายไปในทางเสื่อม ประกอบกับภารกิจภายในครอบครัวลดน้อยลง เนื่องจากลูกโตพอที่จะช่วยเหลือตัวเองได้บางคนอาจมีลูกที่แต่งงานแยกครอบครัวไปอยู่ต่างหาก ผู้ใหญ่วัยกลางคนจึงมีเวลาเป็นของตัวเองมากขึ้น สามารถใช้เวลาเหล่านั้นมาสนใจกับการส่งเสริมสุขภาพให้แก่ตนเองได้วัยกลางคนควรให้ความสนใจในการส่งเสริมสุขภาพในเรื่องต่อไปนี้คือ
3.1 อาหาร ความต้องการอาหารในวัยกลางคนลดน้อยลงกว่าวัยหนุ่มสาว จากการศึกษาพบว่าอัตราการเผาผลาญขั้นต่ำ (Basal Metabolism Rate = BMR) จะค่อยๆ ลดลง ในทุก 10 ปี หลังอายุ 25 ปี จึงควรลดพลังงานที่ได้รับจากอาหารลงประมาณร้อยละ 7.5 นอกจากความต้องการพลังงานที่ลดลง เพราะอัตราการเผาผลาญลดลงแล้ว ยังมีสาเหตุจากการมีกิจกรรมเกี่ยวกับการใช้พลังงานทางกายลดลงด้วย
การรับประทานอาหารในวัยกลางคนจึงควรลดอาหารประเภทแป้งและไขมันลง ผู้ที่มีนํ้าหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน มีโอกาสเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และหลอดเลือดแดงเลี้ยงหัวใจตีบได้ นอกจากนี้การมีน้ำหนักร่างกายมากยังมีปัญหาเกี่ยวกับข้อ ทำให้เกิดข้ออักเสบและข้อเสื่อมได้ง่าย ควรให้ความสำคัญกับอาหารโปรตีน แร่ธาตุ วิตามิน
อาหารที่มีโคเลสเตอโรลตํ่า อาหารที่ให้พลังงานตํ่า และดื่มนํ้ามากๆ โดยเฉพาะนํ้าเปล่าและผลไม้ ถ้าได้อาหารสมส่วนจะทำให้มีนํ้าหนักตัวคงที่ ป้องกันอาการแสบหน้าอก ท้องผูก และความรู้สึกไม่สบายเล็กๆ น้อยๆ อย่างอื่นอันมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของสรีระของร่างกาย เช่น อาการท้องอืด แน่นอึดอัดท้อง เรอกลิ่นเหม็นเปรี้ยว นอกจากนี้ ผู้ที่อยู่ในวัยกลางคน ควรฝึกการเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน เพื่อช่วยให้การย่อยง่ายขึ้น การรับประทานอาหารควรรับประทานในบรรยากาศที่สบายๆ ไม่รีบร้อน และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารขณะที่รู้สึกเหนื่อยมากๆ
การพักผ่อนและการออกกำลังกาย วัยกลางคนควรจะเป็นวัยที่เก็บสะสม และกักตุนทรัพย์สินทางสุขภาพไว้ใช้ในยามชราหรือเข้าสู่วัยสูงอายุ จึงไม่ควรปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยที่ไม่ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์แก่สุขภาพของตนเอง
การพักผ่อนในวัยกลางคน ควรจะเป็นช่วงเวลาของการฝึกงานอดิเรกบางอย่างที่ตนสนใจ และชอบ เพื่อเตรียมตนเองเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ การเริ่มฝึกตั้งแต่วัยนี้จะง่ายกว่าการฝึกเมื่อย่างเข้าสู่วัยสูงอายุ ผู้ที่อยู่ในวัยกลางคนมักจะเป็นผู้ที่มีความพึงพอใจในความสำเร็จของชีวิต และมีการแข่งขันน้อยลง มีความพร้อมในแง่เศรษฐกิจ จึงอาจมีกิจกรรมการพักผ่อนโดยการไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ที่ตนพอใจ ซึ่งอาจจะเป็นการเที่ยวกันเองภายในครอบครัว หรือการไปเที่ยวกับเพื่อนร่วมงานหรือระหว่างผู้ที่มีความสนใจในสิ่งเดียวกันก็ได้ กิจกรรมการพักผ่อนที่มีผลในการส่งเสริมสุขภาพจิตของคนไทยส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมทางศาสนา กิจกรรมสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น
การออกกำลังกายจะช่วยให้วัยกลางคนมีการไหลเวียนเลือดที่ดีขึ้น กระดูกหนา และแข็งแรงขึ้น เอ็นและข้อต่อของร่างกายมีความเหนียวและหนามากขึ้น ทำให้ข้อต่อมีความแข็งแรงสามารถเคลื่อนไหวได้เต็มวงการเคลื่อนไหว (range of motion) โดยเฉพาะข้อที่มีนํ้าเลี้ยงข้อ เยื่อบุข้อจะสร้างนํ้าหล่อเลี้ยงในปริมาณพอเหมาะที่จะทำให้การเคลื่อนไหวเป็นไปโดยคล่องตัว และไม่ทำให้หัวกระดูกเสียดสีกันจนเกิดอันตราย นอกจากนี้ยังทำให้ปอด และหัวใจมีการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การย่อยอาหาร การขับเหงื่อ และการขับถ่ายทำงานดีขึ้น การทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาทมีความสัมพันธ์กันและประสานกันได้ดี ทำให้การเคลื่อนไหวเป็นไปอย่างถูกต้อง
หลักการออกกำลังกายในวัยกลางคน คือ
1. ออกกำลังกายอย่างสมํ่าเสมอ
2. เลือกการออกกำลังกายที่พอเหมาะกับความสามารถและข้อจำกัดของตน คือ เมื่อหยุดพักแล้ว 10 นาที อัตราเต้นของห้วใจจะต่ำกว่า 100 ครั้ง/นาที
3. ค่อยๆ เพิ่มการออกกำลังกายทีละน้อยจนกระทั่งได้ปริมาณที่พอเหมาะกับการทำให้ร่างกายแข็งแรง
4. ผู้ที่มีนํ้าหนักเกินมาตรฐานหรือมีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด ควรได้รับการตรวจร่างกายก่อนเริ่มออกกำลังกายครั้งแรก
5. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายประเภทการแข่งขัน
การออกกำลังกายที่เหมาะกับวัยกลางคน มีหลายชนิดด้วยกัน แต่ละชนิดอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ไม่เหมือนกัน ควรเลือกชนิดของการออกกำลังกายให้เหมาะกับจุดอ่อนประจำตัวของตน และดัดแปลงให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ผู้ที่ปวดเข่าไม่ควรใช้วิธีออกกำลังกายโดยการเดินหรือวิ่ง แต่ใช้วิธีการว่ายนํ้าหรือแกว่งแขนแทน ผู้ที่ปวดคอ ปวดหลัง อาจใช้วิธีการว่ายนํ้า หรือขี่จักรยานอยู่กับที่ การออกกำลังกายที่ไม่ทำให้เกิดบาดเจ็บแก่ร่างกายคือ การรำมวยจีน ซึ่งน่าจะเหมาะกับวัยกลางคนทุกคน
การออกกำลังกายเป็นการส่งเสริมสุขภาพที่มีคุณค่ามากในวัยกลางคน แต่เป็นการส่งเสริมสุขภาพที่มีการนำไปปฏิบัติจริงต่ำมากเมื่อเทียบกับการส่งเสริมสุขภาพอย่างอื่น ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะต้องสนใจเกี่ยวกับการออกกำลังกายให้มากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น