วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

พฤติกรรมสุขภาพ
(Health Behavior)


                พฤติกรรมสุขภาพ (Health Behavior) หมายถึง  การเปลี่ยนแปลงทางด้านที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพซึ่งเกิดขึ้นทั้งภายใน (Covert Behavior)  และภายนอก (Overt Behavior) พฤติกรรมสุขภาพจะรวมถึงการปฏิบัติที่สังเกตได้และการเปลี่ยนแปลงที่สังเกตไม่ได้  แต่สามารถวัดได้ว่าเกิดขึ้น (Good, 1959)  พฤติกรรมภายในเป็นปฏิกิริยาภายในตัวบุคคลมีทั้งเป็นรูปธรรมและนามธรรม  ที่เป็นรูปธรรมซึ่งสามารถใช้เครื่องมือบางอย่างเข้าวัดหรือสัมผัสได้  เช่น  การเต้นของหัวใจ  การบีบตัวของลำไส้  พฤติกรรมเหล่านี้เป็นปฏิกิริยาที่มีอยู่ตามสภาพของร่างกาย  ส่วนที่เป็นนามธรรมได้แก่  ความคิด ความรู้สึก  เจตคติ  ค่านิยม  เป็นต้น  พฤติกรรมภายในนี้ไม่สามารถสัมผัสหรือวัดได้ด้วยเครื่องมือต่าง ๆ เพราะไม่มีตัวตน  จะทราบได้เมื่อแสดงพฤติกรรมออกมา พฤติกรรมภายนอกเป็นปฏิกิริยาต่างๆ ของบุคคลที่แสดงออกมาทั้งทางวาจาและการกระทำซึ่งปรากฏให้บุคคลอื่นเห็นหรือสังเกตได้  เช่น  ท่าทางหรือคำพูดที่แสดงออกไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียง  สีหน้า  เป็นต้น
            พฤติกรรมสุขภาพ (Health Behavior)   หมายถึง การกระทําหรือการปฏิบัติของบุคคลที่มีผลต่อสุขภาพซึ่งเป็นผลมาจากการเรียนรู้ของบุคคลเป็นสําคัญโดยแสดงออกให้เห็นได้ในลักษณะของการกระทําและไม่กระทําในสิ่งที่เป็นผลต่อสุขภาพ หรือผลเสียต่อสุขภาพ  และยังหมายถึงความสามารถในการแสดงออกเกี่ยวกับสุขภาพทั้งทาง       ด้านความรู้  เจตคติ  และทักษะ  โดยเน้นเรื่องพฤติกรรมสุขภาพที่สามารถสังเกตและวัดได้  เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องสุขภาพ 

พฤติกรรมสุขภาพ (Health Behavior)  หมายถึง  กิจกรรมหรือการปฏิบัติใด ๆ ของปัจเจกบุคคลที่กระทำไปเพื่อจุดประสงค์ในการส่งเสริม  ป้องกัน  หรือบำรุงรักษาสุขภาพ  โดยไม่คำนึงถึงสถานะสุขภาพที่ดำรงอยู่หรือรับรู้ได้  ไม่ว่าพฤติกรรมนั้น ๆ จะสัมฤทธิ์ผลสมความมุ่งหมายหรือไม่ในที่สุด (ปณิธาน  หล่อเลิศวิทย์, 2541)
             พฤติกรรมสุขภาพ(Health Behavior)  คือ แนวคิดเกี่ยวกับทั้งพฤติกรรมภายนอก (Overt behavior) และ พฤติกรรมภายใน (Covert behavior) ซึ่งพฤติกรรมภายนอก ได้แก่ การปฏิบัติที่สามารถสังเกตและมองเห็นได้ ส่วนพฤติกรรมภายใน ได้แก่ องค์ประกอบทางจิตวิทยา (Psychological factors) ซึ่งมีความคิดความเชื่อ การรับรู้ แรงจูงใจ ค่านิยม ทัศนคติ และความคาดหวัง โดยในทางพฤติกรรมศาสตร์เชื่อว่า องค์ประกอบเหล่านี้มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมสุขภาพของบุคคล ซึ่งจากการทบทวนการให้ความหมายพฤติกรรมสุขภาพ พบว่า ส่วนใหญ่  มีความหมายคล้ายคลึงกัน คือเป็นการแสดงออกของบุคคลทั้งภายในและภายนอก ที่สังเกตได้และสังเกตไม่ได้ในการกระทำหรืองดเว้นการกระทำสิ่งที่มีผลต่อสุขภาพ
               สุชาติ โสมประยูร ได้ให้ความหมายไว้ว่า พฤติกรรมสุขภาพ หมายถึง ความสามารถในการแสดงออกเกี่ยวกับสุขภาพ ทั้งทางด้านความรู้ เจตคติ การปฏิบัติตนและทักษะ โดยเน้นเรื่องพฤติกรรมสุขภาพที่สามารถสังเกตและวัดได้เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องสุขภาพ   อาจกล่าวได้ว่าพฤติกรรมหรือกิจกรรมเกือบทุกอย่างของปัจเจกบุคคลจะส่งผลกระทบต่อสถานะสุขภาพทั้งสิ้น  ภายใต้บริบทนี้เราอาจแยกพฤติกรรมของคนเราออกเป็นส่วนที่ทำไปโดยตั้งใจที่จะส่งเสริมหรือป้องกันสุขภาพ (ดังคำนิยามข้างต้น) หรือส่วนที่กระทำไปโดยไม่ตั้งใจที่จะหวังผลด้านสุขภาพ  ตามความหมายที่นักวิชาการได้ให้ไว
  ดังนั้น  พอสรุปได้ว่า  พฤติกรรมสุขภาพ หมายถึง  การปฏิบัติหรือการแสดงออกของบุคคลใน    การกระทำหรืองดเว้นการกระทำในสิ่งที่มีผลต่อสุขภาพของตนเอง  โดยอาศัยความรู้  ความเข้าใจ  เจตคติ  และการปฏิบัติตนทางด้านสุขภาพด้านต่าง ๆ  คือสุขภาพกาย  จิตใจ/อารมณ์  และสังคม ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างสมดุล


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น