วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ได่แก่

1. การรับรู้เกี่ยวกับสถานภาพสุขภาพ ผู้สูงอายุที่มีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของตนเอง และรับรู้ว่าสถานภาพสุขภาพของตนในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นไม่ดี จะเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพเกี่ยวกับ การดูแลเอาใจใส่ในเรื่องอาหาร รับผิดชอบในสุขภาพ และการผ่อนคลายความเครียดมากกว่าผู้สูงอายุที่ไม่มีลักษณดังกล่าว
2. การเชื่ออำนาจในตน (health locus of control) ผู้สูงอายุที่เชื่ออำนาจในตนสูง จะมีพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพสูง
การส่งเสริมสุขภาพในวัยสูงอายุ สุขภาพของวัยสูงอายุจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับการดูแลสุขภาพของวัยที่ผ่านมา การส่งเสริมสุขภาพในวัยสูงอายุ เป็นการดำรงรักษาสุขภาพให้คงสภาพเดิมไว้นานที่สุดมากกว่าที่จะทำให้สุขภาพดีขึ้นกว่าวัยที่ผ่านมา การดำรงรักษาสุขภาพในวัยสูงอายุได้แก่
4.1 อาหาร การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้รับสารอาหารที่เหมาะสมเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการชะลอความชรา ความต้องการพลังงานโดยทั่วไป ประมาณ 1500-2300 แคลอรี่ ต่อวันขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวร่างกาย เมื่อย่างเข้าสู่วัยสูงอายุ ควรลดพลังงานจากอาหารลง 10% ของวัยกลางคน ผู้สูงอายุควรได้รับโปรตีน 1 กรัม ต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม และควรเป็นโปรตีนที่มีคุณค่าสูงจากพืช หรือสัตว์ก็ได้ เช่น ปลา เนื้อหมู เนื้อวัว นม ไข่ ถ้าผู้สูงอายุได้สารอาหารโปรตีนมากเกินไปอาจจะเป็นผลเสียต่อไตและตับ ที่ต้องทำงานหนักมากขึ้น เพื่อขับสารยูเรีย นอก จากนี้ยังพบว่าโปรตีนสูงมีผลให้การดูดกลับของแคลเซียมที่ไตลดลง แคลเซียมถูกขับออกทางปัสสาวะมากขึ้น มีปัญหาทำให้เกิดกระดูกบางได้
คารโบไฮเดรท ควรจะเป็นประเภทเชิงซ้อน เช่น ข้าว แป้ง เพราะให้น้ำตาลตํ่า กว่าคาร์โบไฮเดรทเชิงเดี่ยว ถ้าผู้สูงอายุได้คาร์โบไฮเดรทน้อยเกินไป อาจทำให้ร่างกายเกิดการสะสมของสารคีโตน มีผลให้เสียดุลกรดด่างเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ ควรได้คาร์โบไฮเดรท ร้อยละ 55-60 ของพลังงานจากอาหารทั้งหมด
ไขมัน ควรเป็นไขมันจากพืช เช่น น้ำมันข้าวโพด นํ้ามันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว และรับประทานไขมันจากสัตว์ให้น้อยที่สุด ไม่ควรรับประทานไขมันมากกว่าร้อยละ 30 ของพลังงานจากอาหารทั้งหมด ควรได้วิตามินสูง เพื่อป้องกันการขาดซึ่งมักเกิดจากการดูดซึมไม่ดี และมีแบคทีเรียที่ช่วยสร้างวิตามินบีน้อยลง การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุรับประทานผักและผลไม้เพิ่มขึ้น จะช่วยให้ได้วิตามินและแร่ธาตุที่เพียงพอ และช่วยให้การขับถ่ายสะดวก วิตามินที่มีความสำคัญ ในผู้สูงอายุ คือ บี 1 และบี 2 เพราะช่วยให้หัวใจทำงานดีขึ้น ระบบประสาทแข็งแรง ช่วยให้เจริญอาหาร การย่อยอาหารดีขึ้น บี 1 มีมากในเนื้อหมู ถั่ว ข้าว บี 2 มีมากในตับ หัวใจ ถั่ว ผัก ใบเขียว นม วิตามินซี ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของหลอดเลือด วิตามินเอ จะช่วยรักษาสุขภาพ ของดวงตาบำรุงรักษาผม มีมากในตับ ไข่แดง นม แคลเซียมเป็นธาตุที่สำคัญในการป้องกันกระดูกบางซึ่งมีมากในนม
การจัดอาหารให้ผู้สูงอายุรับประทานควรจะเป็นไปตามความชอบ และนิสัยการรับประทานอาหารเดิม การเปลี่ยนแปลงชนิดของอาหารเพื่อให้ได้สารอาหารที่ช่วยบำรุงร่างกาย อาจทำให้ผู้สูงอายุไม่ยอมรับประทานเลยก็ได้ ถ้าผู้สูงอายุรับประทานอาหารได้น้อย และได้ อาหารไม่ครบส่วนอาจจะต้องเสริมให้ในรูปของยา
4.2 การออกกำลังกาย กิจกรรมของผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะใช้แรงกายน้อยลง เนื่องจากกล้ามเนื้อกระดูกและข้อเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อม และเมื่อผู้สูงอายุนั่งๆ นอนๆ ไม่มีกิจกรรมใดๆ จะยิ่งทำให้อวัยวะเหล่านั้นเสื่อมลงเร็วขึ้น ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้เวียนศีรษะ เป็นลม เมื่อลุกนั่งหรือยืน เนื่องจากร่างกายปรับตัวไม่ทัน การออกกำลังกายจะช่วยให้หัวใจและหลอดเลือดมีสมรรถภาพที่ดีช่วยป้องกันอาการหน้ามืดขณะเปลี่ยนท่าได้ เพราะหลอดเลือดดำบริเวณขามีแรงบีบเลือดกลับสู่หัวใจได้มากและเร็วขึ้น และหัวใจก็สามารถบีบตัวแรงขึ้นโดยฉับพลัน ความดันโลหิตจึงไม่ตกลงมากขณะเปลี่ยนท่า นอกจากนี้การออกกำลังกายยังมีการเคลื่อนไหวข้อและมีการใช้กล้ามเนื้อ ให้น้ำหล่อเลี้ยงข้อมีมากพอทำให้ข้อไม่ติด เคลื่อนไหวได้สะดวกขึ้น
หลักการออกกำลังกายในผู้สูงอายุ
1. ควรออกกำลังกายอย่างช้าๆ และเลือกออกกำลังกายชนิดที่ไม่ต้องใช้แรงมากเกินไป และค่อยๆ เพิ่มการออกกำลังกายขึ้นทีละน้อย
2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
3. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแดด หรือขณะอากาศร้อนอบอ้าว หรือหลังรับประทานอาหารใหม่ๆ
4. หลีกเลี่ยงการออกกำลังที่มากเกินไป คือ ถ้าชีพจรยังเต้นเร็วนานเกิน 10 นาที หรือยังมีอาการปวดข้อหลังออกกำลังเกิน 2 ชั่วโมง หรือเป็นอยู่จนถึงก่อนออกกำลังครั้งใหม่ แสดงว่าการออกกำลังนั้นมากเกินไป
5. ถ้าออกกำลังเป็นหมู่หลายคน ควรอยู่ในวัยเดียวกันเพื่อหลีกเลี่ยงการฝืนทำ เพราะจะเป็นอันตราย
6. ควรได้รับการทดสอบร่างกายก่อนเริ่มออกกำลังกายครั้งแรก
การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุที่ไม่ได้ฝึกออกกำลังกายมาก่อนคือการเดิน โดยเริ่มแรกอาจจะเดินแบบธรรมดาบนที่ราบระยะทางไม่ไกลนักอาจเดินเล่นบริเวณบ้าน ต่อมาจึงค่อยๆ เพิ่มระยะทางมากขึ้นตามความเหมาะสม ส่วนผู้ที่แข็งแรงและมีการออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ อาจจะเล่นกีฬาเหมือนที่เคยเล่น แต่จะต้องระวังและหยุดเล่นทันที ถ้ารู้สึกเหนื่อยมาก หายใจหอบ เวียนศีรษะ หูอื้อ ลมออกหู หรือชีพจรเต้นเร็วกว่าปกติ คือ เต้น 120-130 ครั้ง/นาที อาการผิดปกติเหล่านี้แสดงถึงการออกกำลังที่มากเกินไปของผู้สูงอายุ

4.3 การส่งเสริมสุขภาพจิต สุขภาพจิตของผู้สูงอายุขึ้นอยู่กับการปรับตัวและ ภาระงานพัฒนาการอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและทางด้านสังคม ซึ่งผู้สูงอายุจะต้องปรับตัวหลายๆ ด้านเพื่อสุขภาพจิตที่ดี ที่สำคัญได้แก่
1. ยอมรับความเสื่อมโทรมของร่างกายและสุขภาพทั่วๆ ไป
2. เตรียมและปรับตัวต่อการเกษียณอายุและรายได้ที่ลดลง
3. การสูญเสียชีวิตของคู่สมรสที่อาจจะเกิดขึ้น
4. คงความสัมพันธ์กับบุคคลที่อยู่ในวัยเดียวกันและมีความสนใจ เหมือนๆ กัน
5. กำหนดสถานที่อยู่อาศัยในสภาพที่ตนเองพอใจ
6. ปรับแผนการดำเนินชีวิตให้ได้รับความพึงพอใจจากการเปลี่ยนบทบาท
7. ปรับตัวต่อการสร้างสัมพันธภาพใหม่กับบุคคลอื่นๆ ในครอบครัวของลูก
8. เรียนรู้และพัฒนาการใช้เวลาว่างเพื่อช่วยเสริมบทบาทเดิมที่เสียไป
9. ปรับตัวต่อการอยู่คนเดียว
10. เรียนรู้และยอมรับการพึ่งพาผู้อื่น
ถ้าผู้สูงอายุยังมีร่างกายแข็งแรง และช่วยเหลือตัวเองได้ ปัญหาจะไม่ค่อยมากนัก แต่ถ้าเมื่อไรที่ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระแก่ครอบครัวและลูกหลาน บุคคลในครอบครัว ทุกคนจะต้องพยายามเข้าใจความรู้สึกของผู้สูงอายุ การปฏิบัติตัวของลูกหลานที่จะเป็นการช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตแก่ผู้สูงอายุได้แก่
1. การให้เกียรติและเคารพนบนอบต่อผู้สูงอายุ
2. ให้ความดูแลเอาใจใส่ไม่แสดงอาการรำคาญหรือรังเกียจไม่ว่าทางสีหน้า ท่าทางหรือด้วยวาจา
3. ปรึกษาหารือปัญหาต่างๆ และยอมรับฟังความคิดเห็น โดยแสดงอาการโต้แย้งให้น้อยที่สุด
4. ให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของครอบครัว เช่น งานวันเกิดของบุตรหลาน ให้ท่านมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมให้งานวันสำคัญทางศาสนา ให้ท่านมีโอกาสไปร่วมทำบุญ ตามความศรัทธา เมื่อมีแขกมาบ้าน แนะนำให้แขกรู้จักท่านให้ท่านได้มีโอกาสพูดคุยกับแขกเป็นต้น
5. ให้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนเพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้องในวัยเดียวกัน การมีโอกาสพบปะพูดคุยกับบุคคลที่รู้จักหรือคุ้นเคยมาในอดีตเป็นความสุขอย่างยิ่งของผู้สูงอายุ ซึ่งญาติควรจะหาโอกาสตอบสนองความต้องการนี้แก่ผู้สูงอายุบ้างเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ต้องมีผู้ไปรับไปส่ง ให้ถือเป็นภารกิจของลูกหลานที่พึงกระทำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น